วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

วันแตกบ้าน

(25 เม.ย.2560) วันอังคาร15ค่ำเดือน5 = วันแตกบ้าน

ประเพณีแตกบ้านคำว่า “แตกบ้าน” หมายถึงการอพยพเคลื่อนย้ายบ้านไปหาที่อยู่ใหม่ เพราะบ้านเดิมมีเหตุเภทภัยต่าง ๆ นานา อาจเพราะเกิดโรคระบาดรุนแรง มีผีสางนางไม้อาละงาดหมู่บ้าน มีผีห่าลงกินคนและสัตว์หรือเพราะความฝันและทำนายของพ่อกะจ้ำ (ผู้นำทางจิตวิญญาณให้หนีจากที่เดิม) ตลอดจนกลัวสัตว์ร้ายต่าง ๆ จะมาทำอันตราย ฯลฯ นั่นคือความหมายของการแตกบ้านที่เกิดจากสภาพจริง แต่ประเพณีการแตกบ้านในที่นี้คือการทำพิธีแตกบ้านหรืออพยพย้ายบ้านตามประเพณีความเชื่อเท่านั้นซึ่งปัจจุบันยังมีการปฏิบัติอย่างมากมายและค่อนข้างจะเคร่งครัดในบางท้องถิ่น ซึ่งมีความเป็นมาการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ความเป็นมา การแตกบ้านไม่มีใครทำการศึกษาและมีหลักฐานอ้างอิงจึงไม่ทราบความเป็นมาที่ชัดเจน ถามจากคนเฒ่าคนแก่ก็บอกทำตามประเพณีเกี่ยวกับวันอุบาทว์ วันอัปมงคลที่พ่อพราหมณ์กล่าวไว้เท่านั้น เพราะเชื่อกันว่าวันที่จะต้องทำพิธีแตกบ้านนั้น เป็นวันไม่ดี จะมีความเดือนร้อน อันตรายต่าง ๆ จะตามมาหากไม่ทำพิธีแตกบ้านไปอยู่ที่อื่น เมื่อได้ปฏิบัติติดต่อกันมาเรื่อย ๆ จึงกลายเป็นประเพณีไปในที่สุด

2. วันเดือนปีที่ต้องแตกบ้าน พ่อพราหมณ์โบราณอีสานบอกว่าวันและเดือนที่จะต้องทำพิธีแตกบ้านคือวัน และเดือนต่อไปนี้

2.1 วัน วันที่ถือว่าเป็นวันอุบาทว์ วันจัญไร วันโลกาวินาศ หรือวันโลกแตก คือวันที่เลข 5 มาจบกัน และตรงกับวันอังคาร คำว่าเลข 5 มาจบกันคือวันขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5 และตรงกับวันอังคารด้วยถ้าไม่ตรงกับวันอังคารจะไม่เป็นไร ส่วนปีไม่สำคัญจะเป็นปีอะไรก็ได้ หากวัน (ทางจันทรคติ) ดังกล่าวมาเจอกันต้องทำพิธีแตกบ้าน
2.2 เดือน สำหรับเดือนที่จะต้องแตกบ้านคือเดือน 5 ดังได้กล่าวแล้วในข้อ 2.1 ส่วน อื่น ๆ แม้วันดังกล่าวจะมาบรรจบกันก็ไม่ถือปฏิบัติ การถือเอาเดือน 5 หรือเดือนเมษายน เป็นเดือน แตกบ้าน อาจเป็นเพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่แห้งแล้งอากาศร้อนความทุกข์ยากลำบากเข้าครอบคลุมแผ่นดินอีสาน ปราชญ์อีสานจึงกลัวความสูญเสียตามความเชื่อทางหมอพราหมณ์จึงได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

3. พิธีปฏิบัติกิจกรรม เมื่อรู้ว่าวันดังกล่าวมาบรรจบกันผู้นำทางพิธีซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพ่อพราหมณ์ก็จะประกาศให้ลูกบ้านรู้ว่า วันนี้จะต้องมีการแตกบ้านตามประเพณี ลูกบ้านก็จะบอกลูกหลานให้เตรียมตัว ข้าวของอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จะเป็นสำหรับการดำรงชีพ มีข้าว น้ำ อาหาร เป็นต้น

เมื่อเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้พร้อมแล้ว คนเฒ่าคนแก่ก็จะพาลูกหลานเดินทางออกจากหมู่บ้านตั้งแต่เช้า โดยออกเดินทางไปทางทิศคะวันออก ส่วนใหญ่จะพักอยู่ใกล้ ๆ แหล่งน้ำ หนองน้ำ เพื่อความสะดวกในการทำมาหากิน หลังจากได้ที่พัก วางข้าวของเรียบร้อยแล้วพวกผู้ชายก็จะออกไปหาอาหารตามแหล่งน้ำบ้างทุ่งนาบ้าง ส่วนพวกผู้หญิงก็จะพากันพักผ่อนพูดคุยสารทุกข์สุกดิบกัน เด็ก ๆ ก็จะเล่นไล่กันตามประสา เมื่อบรรดาพ่อบ้าน คนหนุ่มหาอาหาร พวกแม่บ้านก็จะพากันทำอาหาร รวมทั้งอาหารที่เตรียมมาจากบ้านเดิม ทำเสร็จแล้วร่วมกันรับประทานเป็นพาข้าววงใหญ่กลางทุ่งนาเป็นภาพเหตุการณ์ที่ น่าประทับใจยิ่ง บางท้องถิ่นจะมีพระสงฆ์เดินทางมาด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการถวายอาหารเพลด้วย แต่ส่วนใหญ่พระสงฆ์จะไม่ร่วมในพิธีกรรมนี้ เพราะเป็นพิธีพราหมณ์ที่ชัดเจนมาก พอถึงตอนเย็นก็จะพากันเก็บข้าวของสัมภาระเครื่องใช้กลับบ้าน โดยมีพ่อพราหมณ์แต่งชุดพราหมณ์ (นุ่งขาวห่มขาวสะพายย่ามมือถือดาบ) เต็มยศเดินไปเรียกลูกหลานกบลับบ้าน พ่อพราหมณ์จะทำเป็นบอกว่า “มาเด้อลูกหลานเอ้ย บัดนี้บ้านของเราอยู่เป็นสุขแล้วไม่มีเสนียดจัญไร ไม่มีอะไรน่ากลัวแล้ว จงกลับบ้านพวกเฮาเถอะ” ชาวอีสานเรียกว่า ผู้มีบุญมาเรียกกลับบ้าน แต่ก่อนจะเดินทางกลับมามีการสนทนากันก่อน ซึ่งคำสนทนาจะเป็น ดังนี้

ชาวบ้าน : พ่อพราหมณ์มาจากไหน
พ่อพราหมณ์ : มาจากบ้านเราโน่นแหละลูกหลานเอ้ย
ชาวบ้าน : หมู่บ้านเราเป็นอย่างไร
พ่อพราหมณ์ : หมู่บ้านเราอยู่สุขสบาย
ชาวบ้าน : เหตุร้ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร
พ่อพราหมณ์ : เหตุร้ายต่าง ๆ พ่อพราหมณ์ได้ขับไล่ออกไปหมดแล้ว
ชาวบ้าน : ถ้าอย่างนั้นก็กลับบ้านได้ใช่ไหมพ่อพราหมณ์
พ่อพราหมณ์ : กลับบ้านได้แล้ว ที่มานี้ก็มาบอกเพื่อให้กลับบ้านนั่นแหละ

ผู้ที่มาเรียกชาวบ้านกลับบ้านนั้นบางท้องถิ่นจะมีพระมาเรียกด้วย เพราะพระคือที่พึ่งคือขวัญและกำลังใจของชาวบ้านและพระจะเป็นผู้ช่วยพูดกับพ่อพราหมณ์แต่บางแห่งก็จะไม่มีพระมาเกี่ยวข้องเพราะพระท่านถือว่าเป็นเรื่องของพราหมณ์พระไม่เกี่ยว เมื่อสนทนากันตามประเพณีความเชื่อเสร็จแล้วพ่อพราหมณ์ก็พาชาวบ้านเดินทางกลับบ้าน ต่อไปโดยต้องเดินทางเข้าไปวัดก่อนจะได้เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองจึงแยกย้ายกลับบ้าน แต่ปัจจุบันจะแยกย้ายกลับใครกลับมันเลยเป็นส่วนใหญ่ และช่วงการสนทนากับพ่อพราหมณ์แต่ละแห่งก็แตกต่างกัน บางแห่งอาจดัดแปลงแต่งคำพูดไปต่าง ๆ นานาตามความเหมาะสมและค่านิยมของแต่ละแห่ง เมื่อชาวบ้านกลับบ้านก็เป็นเสร็จพิธี

เครดิต : วัชรินทร์  เขจรวงศ์